วงจรของการพัฒนาระบบ (System Development Life Cycle - SDLC)

                                ระบบสารสนเทศทั้งหลายมีวงจรชีวิตที่เหมือนกันตั้งแต่เกิดจนตายวงจรนี้จะเป็นขั้นตอนที่เป็นลำดับตั้งแต่ต้นจนเสร็จเรียบร้อยเป็นระบบที่ใช้งานได้ ซึ่งนักวิเคราะห์ระบบต้องทำความเข้าใจให้ดีว่าในแต่ละขั้นตอนจะต้องทำอะไร และทำ  อย่างไร ซึ่งมีขั้นตอนการพัฒนาระบบอยู่ด้วยกัน 7 ขั้นตอน

                                1. การตรวจสอบเบื้องต้น (Preliminary Investigation) เป็นขั้นตอนที่นักวิเคราะห์ระบบจะต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดปัญหาโอกาสและเป้าหมายขององค์กรขั้นตอนนี้ถือเป็นขั้นตอนวิกฤตที่จะนำไปสู่การประสบความสำเร็จหรือความล้มเหลวของโครงการ โดยนักวิเคราะห์ระบบต้องสนใจหาปัญหา หาโอกาส หาเป้าหมายที่ชัดเจนของงานต่าง ๆ เมื่อเห็นถึงปัญหา โอกาส หรือเป้าหมายที่สามารถนำระบบคอมพิวเตอร์เข้าไปแก้ไขได้ จะถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างระบบคอมพิวเตอร์ โดยนักวิเคราะห์ระบบจะต้องพยายามหาโอกาสในการปรับปรุงใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้าไปใช้ในด้านต่าง ๆ  จะต้องมองปัญหาให้ถูกต้อง ต้องมองเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อจะได้รู้ทิศทางของการทำระบบเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย
                                2. การสืบค้นความต้องการข้อมูล (Determining Information Requirements) เป็นขั้นตอนต่อไปที่นักวิเคราะห์ระบบจะต้องเข้าไปสืบค้นดูว่าความต้องการของผู้ใช้มีอะไรบ้าง โดยใช้วิธีการรวบรวมข้อมูล ซึ่งได้แก่ การสัมภาษณ์ การใช้แบบสอบถาม การสังเกตพฤติกรรมของผู้ที่มีหน้าที่ในการตัดสินใจ สิ่งแวดล้อมขององค์กร และการใช้ต้นแบบ
                                3. การวิเคราะห์ระบบ (System Analysis) เป็นขั้นตอนที่นักวิเคราะห์ระบบจะทำการศึกษาถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบงานปัจจุบัน เพื่อออกแบบการทำงานใหม่ นอกจากออกแบบสร้างระบบงานใหม่แล้ว เป้าหมายในการวิเคราะห์ระบบต้องการปรับปรุงและแก้ไขระบบงานเดิมให้มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ ดังนี้ แผนภาพกระแสข้อมูล และสรุปเป็นพจนานุกรมข้อมูล
                                4. การออกแบบระบบ (System Design) การออกแบบระบบเป็นขั้นตอนของการนำผลลัพธ์ที่ได้จากการวิเคราะห์ตอนเริ่มต้น ซึ่งถือว่าเป็นการออกแบบทางตรรกะมาพัฒนาเป็นการออกแบบทางกายภาพให้สอดคล้องกัน โดยการออกแบบจะเริ่มจากส่วนของอุปกรณ์และเทคโนโลยีต่าง ๆ และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่นำมาพัฒนา การออกแบบจำลองข้อมูล การออกแบบข้อมูลนำเข้าและรูปแบบการรับข้อมูล การออกแบบรายงาน และการออกแบบจอภาพในการติดต่อกับผู้ใช้งาน การออกแบบผังระบบ และการสร้างต้นแบบ
                                5. การสร้างหรือพัฒนาระบบ (Development) การสร้างหรือพัฒนาระบบเป็นขั้นตอนของการพัฒนาโปรแกรมด้วยการสร้างชุดคำสั่งหรือเขียนโปรแกรม เพื่อสร้างระบบงาน โดยโปรแกรมที่ใช้ในการพัฒนาจะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมกับเทคโนโลยีที่ใช้งานอยู่ ซึ่งปัจจุบันภาษาระดับสูงได้มีการพัฒนาในรูปแบบของ 4 จี (4G) ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกต่อการพัฒนา กลุ่มผู้พัฒนาระบบอาจจำเป็นต้องใช้เคสทูล (CASE Tools) ในการพัฒนา เพื่อเพิ่มความสะดวก และการตรวจสอบหรือแก้ไขที่รวดเร็วขึ้น และเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้ในระหว่างการพัฒนาระบบจะต้องจัดทำเอกสารโปรแกรมด้วย
                                6. การทดสอบและบำรุงรักษาระบบ (Testing and Maintenance) ก่อนที่จะมีการนำระบบที่สร้างขึ้นไปใช้จะต้องมีการทดสอบ ซึ่งบางครั้งผู้ทดสอบอาจเป็นตัวโปรแกรมเมอร์เอง หรือในบางกรณีอาจให้ผู้ใช้ระบบ และนักวิเคราะห์ระบบเป็นผู้ทดสอบ ซึ่งในการทดสอบควรใช้ข้อมูลที่ปฏิบัติงานจริงมาทดสอบ เมื่อมีการผิดพลาดไม่ถูกต้องตามที่วิเคราะห์ และออกแบบจะต้องปรับแก้ ซึ่งนั่นคือการบำรุงรักษาระบบ โดยใช้เอกสารต่าง ๆ ในขั้นตอนที่ 5 มาประกอบในการบำรุงรักษา
                                7. การนำระบบไปใช้งานและการประเมินผล (Implementation and Evaluation) ในขั้นตอนสุดท้ายจะเป็นการดำเนินงานระบบ ซึ่งจะต้องมีการอบรมผู้ใช้ระบบก่อนที่จะใช้งานจริง ในการดำเนินงานควรคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ใช้ระบบ และองค์กรนั้น คือต้องเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด จากนั้นจะต้องมีการประเมินผล เพื่อให้ทราบถึงความพอใจของผู้ใช้ระบบ หรือสิ่งที่ต้องแก้ไขระบบนั้น หรือสิ่งที่ต้องแก้ไขระบบนั้น เมื่อมีการพัฒนาระบบในครั้งต่อไปจะได้นำมาปรับปรุงแก้ไข

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

PL/SQL_002_Introduction to PL/SQL ตอนที่ 2

ผังงาน (Flowchart)